ในยุคที่การสื่อสารไร้พรมแดนแบบนี้ หลายครั้งที่คู่แต่งงานอาจจะมีความแตกต่างกันในด้านเชื้อชาติ ศาสนา ที่พบเห็นโดยทั่วไป คือ การแต่งงานแบบไทย จีน และคริสต์ เรามาดูกันว่าการแต่งงานในแต่ละแบบนั้นมีขั้นตอนและพิธีการแบบใดกันบ้าง
- การแต่งงานแบบไทย
ในการแต่งงานของคนไทย จะเริ่มต้นด้วยการสู่ขอ โดยให้เฒ่าแก่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีฐานะทางสังคมดี เป็นที่รู้จักกับพ่อแม่หรือผู้ปกครองของทั้งสองฝ่าย มาดำเนินการสู่ขอ หลังจากได้มีเจรจาสู่ขอเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็จะกำหนดฤกษ์งามยามดีสำหรับพิธีแต่งงาน ก่อนแต่งงานอาจมีการหมั้นสักระยะหนึ่งก่อน หรือในบางครั้งอาจจัดพร้อมกับงานแต่งไปเลยก็ได้ โดยเราอาจจะเคยเห็นการ์ดงานแต่ง ที่มักจะทำพิธีหมั้นในตอนเช้า แล้วแต่งในตอนเย็น ในการหมั้นก็จะต้องมีสินสอดทองหมั้น หรือของหมั้นซึ่งประเพณีโบราณ ถือว่าของหมั้นเป็นของเจ้าสาว ส่วนสินสอดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของพ่อแม่ หรือที่เรียกกันว่าค่าเลี้ยงดูหรือค่าน้ำนม ในพิธีแต่งงาน จะมีพิธีรับไหว้เพื่อแสดงความเคารพต่อบิดามารดา และบรรดาผู้ใหญ่ ซึ่งจะคล้ายกับพิธียกน้ำชาในการแต่งงานแบบคนจีนนั่นเอง ในงานแต่งงานแบบไทย จะมีพิธีร่วมทำบุญตักบาตรของคู่บ่าวสาวซึ่งนิยมทำกันหลังจากพิธีรับไหว้ โดยเจ้าภาพจะเป็นผู้นิมนต์พระมาสวดเจริญพุทธมนต์และรับอาหารบิณฑบาต หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์แล้ว ก็ได้ฤกษ์รดน้ำหรือหลั่งน้ำสังข์ จากนั้นเมื่อเสร็จพิธีหลั่งน้ำสังข์แล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารแขกผู้มาร่วมงาน ถ้ามีการกินเลี้ยงในตอนเย็นด้วย เจ้าสาวมักเปลี่ยนจากชุดไทยเป็นชุดราตรียาว หรือที่เรียกกันว่า “ชุดเจ้าสาว” ในงานเลี้ยงตอนเย็น ผู้ที่ได้รับการ์ดแต่งงาน ก็จะมาร่วมงานและมีการใส่ซองให้คู่บ่าวสาวเพื่อแสดงความยินดี และเป็นเงินทุนในการเริ่มต้นชีวิตคู่ต่อไป เมื่อเสร็จจากงานเลี้ยงแล้ว ก็จะมีพิธีการปูที่นอนและส่งตัวเจ้าสาว เป็นอันเสร็จพิธีทั้งหมด
- การแต่งงานแบบจีน
คนจีนจะให้ความสำคัญกับเรื่องดวง ความเป็นมงคล คล้าย ๆ กับของไทยเราค่ะ สิ่งแรกที่ต้องทำ คือนำวันเดือนปีเกิดของทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงไปให้ซินแสผูกดวงเพื่อหาวันมงคลในการทำพิธีต่าง ๆ คล้าย ๆ กับการหาฤกษ์งามยามดีในพิธีแบบไทย โดยฝ่ายชายต้องแจ้งกำหนดการจัดพิธีต่าง ๆ ให้ครอบครัวฝ่ายหญิงได้รับรู้ก่อน และตกลงกันว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายในวันไหนกันบ้าง เมื่อตกลงทุกกันเรียบร้อยแล้ว ก็จะแยกย้ายกันไปเตรียมของสำหรับใช้ในพิธี เพื่อรอวันยกขันหมาก ฝ่ายหญิงก็ต้องมากรเตรียมข้าวของเครื่องใช้และเครื่องแต่งงานรอไว้ ส่วนฝ่ายชายก็ต้องเตรียมเครื่องขันหมากตามที่ฝ่ายหญิงกำหนดเอาไว้ให้ครบถ้วน มีการมอบสินสอดและของหมั้นเช่นเดียวกับพิธีแบบไทย ตามธรรมเนียมจีนจะไม่มีพิธีสวมแหวนหมั้นและนับสินสอด ตามประเพณีจีนพิธีส่งตัวเริ่มต้นที่บ้านเจ้าสาว รอเจ้าบ่าวมารับตัวไปทำพิธียังบ้านเจ้าบ่าว เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าว จะต้องทำพิธีไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ จากนั้นเจ้าสาวจะทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชาย แต่ในปัจจุบันนิยมจัดงานที่โรงแรม จึงมีการลำดับขั้นตอนใหม่ โดยนำพิธียกน้ำชามาไว้ท้ายสุดของพิธีการทั้งหมด หลังจากตื่นนอนในเช้าวันแรกที่บ้านฝ่ายชาย เจ้าสาวจะต้องสวมรองเท้าเกี๊ยะพร้อมถืออ่างน้ำไปให้พ่อแม่เจ้าบ่าวล้างหน้า เป็นเคล็ดว่านอกจากจะตื่นเช้า มีความเป็นแม่บ้านแม่เรือนแล้ว ยังกตัญญูปรนนิบัติพ่อแม่สามีไม่ต่างจากพ่อแม่ตัวเอง หลังแต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายไปแล้ว 3 วัน หรือบางบ้านออาจจะ 12 วัน ก็ถึงเวลาที่เจ้าสาวจะพาเจ้าบ่าวกลับบ้านไปเยี่ยมพ่อแม่ เมื่อไปถึงบ้านเจ้าสาว ก็จะต้องทำพิธียกน้ำชาให้พ่อแม่และญาติฝ่ายเจ้าสาว จากนั้นก็จะมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขย
- การแต่งงานแบบคริสต์
ขั้นตอนการแต่งงานจะคล้าย ๆ กับแบบไทยและแบบจีน คือมีการสู่ขอ จองสถานที่ จัดงานเลี้ยง แจกการ์ดแต่งงาน การแต่งงานในศาสนาคริสต์ คือการที่คู่บ่าวสาวสมัครใจที่จะร่วมชีวิตกัน มีการทำพันธะสัญญาต่อพระผู้เป็นเจ้า ผ่านผู้ประกอบพิธี ซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของพระองค์ มีโดยการกล่าวคำมั่นสัญญาจะรับเจ้าสาวหรือเจ้าบ่าวเป็นสามีหรือภรรยาไปตลอดชีวิต พิธีแต่งงานจะจัดขึ้นที่โบสถ์ ซึ่งจะเชิญผู้ทำพิธี ได้แก่ บาทหลวงสำหรับผู้นับถือคาทอลิก แต่ถ้านับถือแบบคริสเตียนให้เชิญศิษยาภิบาลแทน พร้อมด้วยการเชิญญาติพี่น้องหรือคนรู้จักที่เป็นเด็กมาช่วยในงานพิธี โดยเด็กเหล่านี้จะรับหน้าที่เป็นผู้โปรยดอกไม้ และเป็นผู้ถือแหวนนำขบวนเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์ จากนั้นเด็กสองคน จะทำพิธีจุดเทียน โดยบริเวณด้านหน้าของโบสถ์จะมีเชิงเทียน 2 แท่น อยู่ทางซ้ายและขวา เมื่อเริ่มเข้าสู่พิธี เด็กที่ได้รับเลือกจะเดินถือเทียนเปล่าไปต่อไฟจากแท่นเทียนด้านหน้าโบสถ์ แล้วจึงนำไปจุดต่อยังเชิงเทียนด้านซ้ายและขวา แล้วค่อยเดินออกมา หลังจากจุดเทียนเสร็จเรียบร้อย วงดนตรีที่อยู่ด้านในโบสถ์จะบรรเลงเพลงต้อนรับ คู่บ่าวสาวส่วนใหญ่แล้วจะจ้างนักเปียโนมาเล่นให้ในงาน จากนั้นจะเริ่มพิธีแต่งงาน โดยการพาเจ้าสาวเข้าสู่โบสถ์ ขบวนเจ้าสาวประกอบด้วยเด็กที่ถือแหวนหมั้น โปรยดอกไม้ เพื่อนเจ้าสาว ส่วนบิดาจะเป็นคนพาเจ้าสาวเดินคล้องแขนเข้ามาในโบสถ์ ถือเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับเจ้าบ่าวเป็นผู้รับหน้าที่แทนในการดูแลเจ้าสาวต่อไปเมื่อบิดาพาเจ้าสาวมาถึงบริเวณที่ประกอบพิธี ผู้ประกอบพิธีจะอ่านข้อพระคัมภีร์เกี่ยวกับการใช้ ชีวิตคู่ เพื่อให้คู่บ่าวสาวรับทราบถึงภาระหน้าที่ ที่ต้องปฏิบัติต่อเมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตคู่ จากนั้นจะเป็นพิธีกล่าวคำปฏิญาณ ยอมรับเป็นสามีภรรยาและให้คำมั่นสัญญาซึ่งกันและกัน ซึ่งขั้นตอนนี้ถือได้ว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากที่สุด จากนั้นจึงทำการแลกแหวนแต่งงาน แหวนของชาวคริสต์จะต้องเป็นแหวนที่กลมเกลี้ยงปราศจากรอยต่อใด ๆ เพื่อสื่อถึงความรักไม่มีที่สิ้นสุดนั่นเองค่ะ จากนั้นคู่บ่าวสาวจะลงนามในหนังสือสำคัญที่โบสถ์เป็นผู้ออกให้ ในพิธีการสุดท้าย จะเป็นการจุดเทียนโดยเริ่มจากเจ้าสาวจุดเทียนซ้าย เจ้าบ่าวจุดเทียนขวา แล้วจุดเทียนตรงกลางพร้อมกัน เพื่อแสดงถึงการรวมเป็นครอบครัวเดียวกัน จากนั้นผู้ประกอบพิธี จะอธิษฐานขอพรให้ครอบครัวใหม่ และประกาศการแต่งงานระหว่างคู่บ่าวสาวอย่างเป็นทางการ ถือเป็นการสิ้นสุดพิธีแต่งงานค่ะ ต่อจากนั้น คือพิธีการที่หลายคนรอคอย และนิยมนำมาใช้ ในงานเลี้ยงแต่งงานกันแทบทุกงาน นั่นก็คือการโยนช่อดอกไม้ของเจ้าสาว โดยของคริสต์จะโยนที่หน้าโบสถ์หลังจากเสร็จพิธีด้านในแล้ว ซึ่งจะมีเพื่อนเจ้าสาว รวมทั้งบรรดาสาวโสดมารอรับ ถ้าคนใดได้ช่อดอกไม้ ก็มีความเชื่อว่าจะได้เป็นเจ้าสาวคนต่อไปนั่นเอง
การแต่งงานในแต่ละแบบ ถึงแม้จะมีความแตกต่างกันในส่วนของพิธีการต่าง ๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือการให้ความสำคัญกับผู้หลักผู้ใหญ่และความเป็นสิริมงคลให้กับคู่แต่งงาน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานแบบไหน ก็ขอให้เป็นการเริ่มต้นชีวิตคู่ที่ราบรื่นและมีความสุขตลอดไปนะคะ